Home > Medias & Articles > สงครามทางไซเบอร์เเละกฎหมาย เมื่อสงครามเปลี่ยนไป กฎหมายเดิมยังคงมีผลหรือไม่?

สงครามทางไซเบอร์เเละกฎหมาย เมื่อสงครามเปลี่ยนไป กฎหมายเดิมยังคงมีผลหรือไม่?

เมื่อโลกนี้ไม่ได้มีแค่สงครามที่ต่อสู้ฟาดฟันกันด้วยอาวุธอีกต่อไป โลกไซเบอร์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิสำคัญในการทำสงครามสมัยใหม่ โดยตั้งแต่ปี 1949 หลังจากมีการลงนามในอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านสงครามสากลที่ทำขึ้นเพื่อคุ้มครองทั้งทหารและพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรม อนุสัญญานี้เป็นที่ยึดถืออย่างทั่วกันในสงครามระหว่างประเทศที่มีการสู้รบกันทางกายภาพโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ แต่คำถามหลักคือในยุคที่สงครามอุบัติขึ้นบนโลกไซเบอร์ ปราศจากการถืออาวุธขึ้นต่อสู้กันโดยตรงแล้ว อนุสัญญาเจนีวาจะยังบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?

อนุสัญญาเจนีวาแบ่งออกเป็น 4 ฉบับ ฉบับแรกบัญญัติให้มีการดูแลผู้บาดเจ็บล้มตายในกองทัพ ฉบับที่ 2 พูดถึงการดูแลกองทัพในศึกทางทะเล ฉบับ 3 พูดถึงเชลยศึก และฉบับสำคัญคือฉบับที่ 4 ซึ่งเกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองพลเรือนในยามสงคราม อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 นี้เองได้เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดการร่างกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law) ที่บัญญัติให้การทำสงครามต้องคำนึงถึงชีวิตของคนทั้งพลเรือนและทหารเป็นสำคัญ

⚖️ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและสงครามไซเบอร์

แม้สาระสำคัญของกฎหมายนี้จะสื่อไปทางการทำสงครามทางกายภาพ แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็ตระหนักถึงภัยอันอาจเกิดจากสงครามไซเบอร์ที่ไม่มีกฎหมายมาจำกัดขอบเขต ซึ่ง Tilman Rodenhäuser ผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าการทำสงครามทางไซเบอร์นั้น ในทางหนึ่งก็อาจกระทบถึงชีวิตของพลเรือนได้ อาทิ การโจมตีระบบจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ปัจจุบันล้วนดำเนินอยู่บนระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค โรงพยาบาล หรือแม้แต่สถานีตำรวจ ผลของการโจมตีอาจทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่หยุดชะงัก และประชาชนอาจได้รับผลกระทบตั้งแต่การขาดแคลนน้ำสะอาด การไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาล หรือไม่สามารถแจ้งอาชญากรรมได้ การทำสงครามไซเบอร์ประเภทการปล่อยข่าวลือในโลกอินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน ทั้งหมดอาจนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ควรมีกฎหมายมนุษยธรรมเข้ามาควบคุม พูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าจะใช้ระเบิดหรือ Malware หากเป็นการโจมตีโรงพยาบาลที่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงชีวิตของคนในนั้นได้ ก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผิดหลักมนุษยธรรมทั้งสิ้น

🏴󠁡󠁦󠁷󠁡󠁲󠁿รูปแบบการทำสงครามอาจเปลี่ยนไป แต่หัวใจของกฎหมายยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ท้ายที่สุดแล้ว การทำสงครามทางไซเบอร์ก็สมควรนำกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาบังคับใช้และควบคุมเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังได้ร่วมมือกันร่างคู่มือที่มีชื่อว่า “Tallinn Manual” ซึ่งเป็นคู่มือในการนำกฎหมายตามอนุสัญญาเจนีวามาบังคับใช้กับสงครามทางไซเบอร์ พร้อมด้วยสาระสำคัญในการมองว่าแม้รูปแบบการทำสงครามจะวิวัฒนาการไปมากจากปี 1949 แต่กฎหมายก็ควรจะครอบคลุมในทุกการกระทำและเจตนาที่จะทำให้เกิดการสูญเสีย ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบระเบิดและปืนกลหรือ Malware ก็ตาม

แม้ปัจจุบันขอบเขตของกฎหมายกับสงครามทางไซเบอร์จะมีส่วนที่ยังคลุมเครือและขาดความชัดเจนเหมือนกับของสงครามดั้งเดิม แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่าอนุสัญญาเจนีวาและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศนี้จะยังคงมีผลบังคับใช้กับสงครามไซเบอร์ได้ และเชื่อว่ากฎหมายนี้เองที่เป็นความหวังและรากฐานของการบัญญัติกฎหมายที่จะจำกัดขอบเขตและคุ้มครองความปลอดภัยของทุกภาคส่วนอย่างชัดเจนในการทำสงครามทางไซเบอร์ต่อไป

ปกป้ององค์กรของท่านจากการโจมตีทางไซเบอร์
ติดต่อเรา Cloudsec Asia
ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำของเอเชียแปซิฟิก
Tel.+66 2117 9668
www.cloudsecasia.com

#cybersecurity
#cybersecurityisamust
#cloudsecasia

References:ICRC., 2021. Cyber Warfare: does International Humanitarian Law apply?. [online] ICRC. Available at <https://www.icrc.org/…/cyber-warfare-and-international…> [Accessed 2 March 2022]ICRC., 2013. What limits does the law of war impose on cyber attacks?. [online] ICRC. Available at <https://www.icrc.org/…/130628-cyber-warfare-q-and-a-eng…> [Accessed 2 March 2022]