Home > Medias & Articles > 3 กลไกสร้างความปลอดภัยของเทคโนโลยี ‘Blockchain’

3 กลไกสร้างความปลอดภัยของเทคโนโลยี ‘Blockchain’

บล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้จัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยสูง และการนำมาใช้กับระบบการเงินดิจิทัล เช่น คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency), การเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ที่กำลังเป็นความหวังใหม่แห่งโลกการเงินอนาคตในตอนนี้ บล็อกเชนดำเนินการด้วยวิธีการแบบไร้ตัวกลาง โดยอาศัยระบบเครือข่ายเข้ารหัสที่เชื่อมต่อเข้าหากัน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบข้อมูลระหว่างกันได้อย่างทั่วถึง เราต่างได้ยินกันมาตลอดว่าบล็อกเชนปลอดภัย แต่หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพนักว่าทำไมตัวมันถึงปลอดภัย โดยบล็อกเชนมีกลไกรักษาความปลอดภัยหลัก ๆ 3 ส่วน ดังนี้:

🔐 กลไกการเข้ารหัส (Cryptography) ด้วย Private key และ Public key

ในการเข้าถึงข้อมูล หรือส่งข้อมูล เช่น การโอนบิตคอยน์ ผู้ใช้งานจะมีคู่กุญแจ (key) ที่ใช้สำหรับการเข้าถึงข้อมูลอยู่ 1 ชุด ซึ่งประกอบด้วย Public Key และ Private Key ที่ถูกสร้างมาคู่กันและสามารถตรวจสอบความถูกต้องของกันและกันได้ โดยใช้เป็นเสมือนลายเซ็นดิจิทัลสำหรับรับรองการทำธุรกรรม หรือการส่งข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งกุญแจที่เรียกว่า Private Key เป็นกุญแจที่ต้องเก็บไว้เป็นความลับเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงบัญชีของเราได้ ในการทำธุรกรรมบนระบบบล็อกเชน ยกตัวอย่างกรณีของการโอนบิตคอยน์ ผู้ส่งจะโอนบิตคอยน์ไปยัง public address หรือ public key ของผู้รับ และผู้รับก็จะใช้ Private key ของตนในการเข้าถึงบิตคอยน์จำนวนดังกล่าว ซึ่งในการใช้งานจริง มีการนำระบบคู่กุญแจ (Key pair) นี้ไปประยุกต์ใช้สำหรับการเข้ารหัสข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ

🖋 กลไกการรองรับความถูกต้องร่วมกัน (Consensus Protocol)

ในเครือข่ายบล็อกเชนประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งถูกเรียกว่า Node หลายต่อหลายเครื่องเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยข้อมูลทุกอย่างในเครือข่ายจะนำไปเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง และทุก Node ในเครือข่ายสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องร่วมกันบนเครือข่ายได้ โดยทุกครั้งที่มีบล็อกที่สร้างใหม่ จะมีผู้ใช้งานในเครือข่ายมาทำการยืนยัน ซึ่งในบางเครือข่ายจะมีการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ที่ทำการยืนยัน เช่น บิตคอยน์ หรืออีเธอร์ รูปแบบการยืนยันก็มีหลากหลายโปรโตคอลซึ่งแต่ละเครือข่ายก็จะใช้โปรโตคอลที่ผู้ใช้งานยอมรับร่วมกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Proof of Work หรือ Proof of Stake เป็นต้น

🔗 กลไกป้องกันการเปลี่ยนแปลง (Immutability) ด้วยฟังก์ชันแฮช (Hash)

หลังจากที่บล็อกได้รับการรับรองยืนยันแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลภายในบล็อกนั้น ๆ ได้ โดยระบบบล็อกเชนสร้างอยู่บนพื้นฐานของการเข้ารหัสด้วยฟังก์ชันแฮช ทุกครั้งที่ระบบได้รับข้อมูลการทำธุรกรรมหรือข้อมูลใด ๆ ก็ตามใหม่นั้นจะมีการสร้างบล็อกใหม่ และคำนวณค่าออกมาเป็นรหัสที่เราเรียกกันว่า ‘ค่าแฮช’ (Hash) ซึ่งค่าแฮชจะเป็นเสมือนตัวเชื่อมบล็อกทุกบล็อกเข้าด้วยกัน เนื่องจากแต่ละบล็อกนอกจากจะมีค่าแฮชประจำตัวแล้ว ยังมีการบันทึกค่าแฮชของบล็อกก่อนหน้าเพื่ออ้างอิงถึงการเชื่อมต่อกัน ซึ่งหากข้อมูลภายในบล็อกถูกเข้าไปเปลี่ยนข้อมูลแม้แต่เพียงนิดเดียว ค่าแฮชก็จะเปลี่ยนทำให้สามารถตรวจสอบได้ทันที

กลไกการเข้ารหัสและรูปแบบเครือข่ายดังกล่าวเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้บล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง และมีศักยภาพที่จะเป็นพื้นฐานของระบบการเงินยุคใหม่ รวมถึงนำไปใช้งานต่อยอดต่อออกไปอย่างกว้างไกลในอนาคต

ปกป้ององค์กรของท่านจากการโจมตีทางไซเบอร์
ติดต่อเรา Cloudsec Asia
ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำของเอเชียแปซิฟิก
Tel.+66 2117 9668
www.cloudsecasia.com


#cybersecurity
#cybersecurityisamust
#cloudsecasia

References:

EC-Council, 2021. WHAT IS BLOCKCHAIN IMMUTABILITY AND HOW DOES IT HELP?. [online] EC-Council. Available at <https://blog.eccouncil.org/what-is-blockchain…/> [Accessed 10 October 2021]

Kot, I., 2019. A weak link: Is blockchain as secure as we think it is?. [online] ITProPortal. Available at <https://www.itproportal.com/…/a-weak-link-is…/> [Accessed 10 October 2021]

Binance Academy, 2019. What Makes a Blockchain Secure?. [online] Binance Academy. Available at <https://academy.binance.com/…/what-makes-a-blockchain…> [Accessed 10 October 2021]

Miles, C., 2017. Blockchain security: What keeps your transaction data safe?. [online] IBM. Available at <https://www.ibm.com/…/blockchain-security-what-keeps…/> [Accessed 10 October 2021]